วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วันคืน ล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร
             [๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิต
พึงพิจารณาเนืองๆ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า
เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพ
ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า อากัปกิริยาอย่างอื่น
อันเราควรทำมีอยู่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมติเตียนตนเองได้
โดยศีลหรือไม่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณา
เนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ บรรพชิตพึง
พิจารณาเนืองๆ ว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใด
ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณา
เนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณา
เนืองๆ ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ
ว่า ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คือ อุตริมนุสธรรม
อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว
จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการ
นี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ฯ
จบสูตรที่ ๘

อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ.



--------------------------------------

อุตตริมนุสสธรรม ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง,
       ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล,
       บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง
       (พจนานุกรมเขียน อุตริมนุสธรรม)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต



ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
             [๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการ
เป็นไฉน คือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิด
หน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความ
เป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยา
วัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยา
วัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น
จาตุมมหาราช ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้ง ๔ ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่
สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วง
เทวดาชั้นจาตุมมหาราชโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์
ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพ-
*ทิพย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยา
วัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น
ดาวดึงส์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์นั้น กระทำบุญ
กิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ
โผฏฐัพพทิพย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญ
กิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นยามา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสยามเทพบุตรในชั้นยามานั้น ทำบุญกิริยาวัตถุ
ที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อม
ก้าวล่วงเทวดาชั้นยามาโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพ-
ทิพย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยา
วัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น
ดุสิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในชั้นดุสิตนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่
สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วง
เทวดาชั้นดุสิตโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุ
ที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น
นิมมานรดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุนิมมิตเทพบุตรในชั้นนิมมานรดีนั้น ทำบุญ
กิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นนิมมานรดีโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ
โผฏฐัพพทิพย์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยา
วัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น
ปรนิมมิตวสวัตตี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตรในชั้น
ปรนิมมิตวสวัตตีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุ
ที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีโดยฐานะ ๑๐
ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์
เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยา
วัตถุ ๓ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๖



อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ.



อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ ทานวรรคที่ ๔
๖. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
               อรรถกถาบุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖               
               บุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               
การทำบุญนั้นด้วย เป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุญญกิริยาวัตถุ.
               
จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายตั้งจิตไว้ในลักษณะแห่งทานเป็นต้น แล้วคิดว่า ชื่อว่าทานเห็นปานนี้ พวกเราควรให้ ควรรักษาศีล ควรเจริญภาวนา ดังนี้แล้วจึงทำบุญ. ทานนั้นแหละ ชื่อว่าทานมัย.
               
อีกอย่างหนึ่ง บรรดาทานเจตนา สันนิฏฐาปกเจตนาอันสำเร็จมาแต่เจตนาที่ตกลงใจ เจตนาดวงแรกชื่อว่าทานมัย เหมือนวัตถุสำเร็จแต่แป้งเป็นต้นก็สำเร็จด้วยแป้งเป็นต้นฉะนั้น.
               
แม้ใน ๒ บทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               
บทว่า ปริตฺตํ กตํ โหติ ความว่า เป็นอันเขากระทำน้อย คือนิดหน่อย.
               
บทว่า นาภิสมฺโภติ แปลว่า ย่อมไม่สำเร็จผล.
               
บทว่า อกตํ โหติ ความว่า ไม่ได้เริ่มความเพียรในภาวนาเลย.
               
บทว่า มนุสฺสโทภคฺยํ ได้แก่ ตระกูลต่ำ ๕ ตระกูลอันเว้นจากสมบัติในมนุษย์ทั้งหลาย.
               
บทว่า อุปฺปชฺชติ ได้แก่ ย่อมเข้าถึงด้วยอำนาจปฏิสนธิ. อธิบายว่า เกิดในตระกูลต่ำนั้น.
               
บทว่า มตฺตโส กตํ ได้แก่ กระทำ คือไม่น้อยไม่มาก.
               
บทว่า มนุสฺสโสภคฺยํ ได้แก่ สมบัติแห่งตระกูล ๕ ตระกูลอันงามเลิศในมนุษย์.
               
บทว่า อธิมตฺตํ ได้แก่ ให้มีประมาณยิ่งหรือให้เข้มแข็ง.
               
บทว่า อธิคณฺหนฺติ ได้แก่ ยึดถือ. อธิบายว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่า คือเจริญกว่า.

               
จบอรรถกถาบุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖             
               -----------------------------------------------------               
.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ ทานวรรคที่ ๔ ๖. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร จบ





 
Blogger Templates