วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นิพพานเป็นสุข อย่างยิ่ง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ.

คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕

 [๒๕]    เมื่อพวกมนุษย์มีเวรกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เมื่อพวก
                          มนุษย์มีเวรกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เป็นอยู่สบายดีหนอ
                          เมื่อพวกมนุษย์มีความเร่าร้อนกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีความ
                          เร่าร้อนอยู่ เป็นอยู่สบายดีหนอ เมื่อพวกมนุษย์มีความ
                          ขวนขวายอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายอยู่ เมื่อพวก
                          มนุษย์มีความขวนขวายกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายอยู่
                          เป็นอยู่สบายดีหนอ เราไม่มีกิเลสชาติเครื่องกังวล เป็น
                          อยู่สบายดีหนอ เรามีปีติเป็นภักษาเหมือนเหล่าเทวดา
                          ชั้นอาภัสสระ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์
                          พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้ว
                          ย่อมอยู่เป็นสุข ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอ
                          ด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบ
                          ไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
                          บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้
                          แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ลาภทั้งหลาย
                          มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง
                          ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุข
                          อย่างยิ่ง บุคคลผู้ปีติในธรรม เมื่อดื่มรส ดื่มรสอันเกิดแต่
                          วิเวกและรสแห่งความสงบแล้ว ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย
                          ไม่มีบาป การเห็นพระอริยะเจ้าทั้งหลายเป็นความดี การอยู่
                          ร่วมกับพระอริยะเจ้าเหล่านั้น เป็นสุขทุกเมื่อ บุคคลพึงเป็น
                          ผู้มีความสุขเป็นนิตย์ได้ เพราะการไม่เห็นคนพาลทั้งหลาย
                          ด้วยว่าบุคคลผู้สมคบกับคนพาลเที่ยวไป ย่อมเศร้าโศกสิ้น
                          กาลนาน การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนการ
                          อยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนนักปราชญ์มีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือน
                          สมาคมแห่งญาติ เพราะเหตุนั้นแล บุคคลพึงคบบุคคลนั้น
                          ผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญา เป็นพหูสูต มีปกตินำธุระไป
                          มีวัตร เป็นพระอริยะ เป็นสัปบุรุษ ผู้มีปัญญาดีเช่นนั้น
                          เหมือนพระจันทร์คบครองแห่งนักษัตร ฉะนั้น ฯ

จบสุขวรรคที่ ๑๕

บุคคลฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ. 

สักกปัญจกะที่ ๓
ฆัตวาสูตรที่ ๑
             [๙๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ
             ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วทรงถวายบังคม แล้วประทับอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ฯ
             [๙๔๔] ท้าวสักกะจอมเทพประทับอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เรียบร้อย
แล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
                          บุคคลฆ่าอะไรแล้วสิจึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรแล้วสิจึงจะไม่
                          เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงชอบการฆ่าอะไร
                          อันเป็นธรรมอย่างเอก ฯ
             [๙๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
                          บุคคลฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธ
                          เสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววาสวะ พระอริยะเจ้า
                          ทั้งหลายย่อมสรรเสริญ การฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษ
                          มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อม
                         ไม่เศร้าโศก ฯ

                         
 
Blogger Templates