วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผู้ให้แสงสว่าง ได้ชื่อว่าให้ดวงตา

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ
กินททสูตรที่ ๒
 [๑๓๗] เทวดาทูลถามว่า
                          บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ
                          ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ
                          และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถาม
                          พระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ
             [๑๓๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
                          บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยาน
                          พาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุและ
                          ผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอน
                          ธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม ฯ


วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รักตนให้ถูกทาง

รักตนให้ถูกทาง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ.
ปิยสูตรที่ ๔
             [๓๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่ง
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ
             ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นแล้ว จึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ฯ
             พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบ-
*ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (วันนี้) ข้าพระองค์เข้าที่ลับพักผ่อน
อยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนเหล่าไหนหนอแลชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหน
ชื่อว่าไม่รักตน ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแลย่อม
ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน ข้อนั้นเป็น
เพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่
รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเอง
ได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนว่าชนเหล่าใดแล
ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น
จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้น
เป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญ ให้
แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่
ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน ฯ
             [๓๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่าชน
บางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตน ถึง
แม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายมีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ชื่อว่า
ไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อม
ทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้นย่อมทำ
ความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รัก
ตน ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ พวกเหล่านั้นชื่อว่า
รักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้นก็ชื่อ
ว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดี
ความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเหล่านั้นย่อมทำความดี
ความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น พวกเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน ฯ
             [๓๓๖] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้
จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
                          ถ้าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะ
                          ว่าความสุขนั้นไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะพึงได้โดยง่าย ฯ
                          เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไร
                          เป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง
                          อะไรเล่าจะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น ฯ
                          ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ
                          เป็นบุญและเป็นบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแลเป็น
                          สมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป (สู่ปรโลก)
                          อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมเป็นของติดตามเขาไปประดุจเงาติด-
                          ตามตนไป ฉะนั้น ฯ
                          เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรมสะสมไว้เป็นสมบัติใน
                          ปรโลก (เพราะว่า) บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
                          ในปรโลก ฯ





ทุจริต ความประพฤติชั่ว, ความประพฤติไม่ดีมี ๓ คือ
       ๑. กายทุจริต ประพฤติชั่วด้วยกาย
       ๒. วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา
       ๓. มโนทุจริต ประพฤติชั่วด้วยใจ;
กายทุจริต ประพฤติชั่วด้วยกาย, ประพฤติชั่วทางกายมี ๓ อย่างคือ
       ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
       ๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์
       ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา, ประพฤติชั่วทางวาจามี ๔ อย่างคือ
       ๑. มุสาวาท พูดเท็จ
       ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
       ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
       ๔. สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อ


มโนทุจริต ความประพฤติชั่วด้วยใจ, ความทุจริตทางใจมี ๓ อย่าง
       ๑. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้จ้องจะเอาของเขา
       ๒. พยาบาท ความขัดเคืองคิดร้าย
       ๓. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม

สุจริต ประพฤติดี, ประพฤติชอบ,
       ประพฤติถูกต้องตามคลองธรรม มี ๓ คือ
           ๑. กายสุจริต ประพฤติชอบด้วยกาย
           ๒. วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา
           ๓. มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ;

กายสุจริต ประพฤติชอบด้วยกาย, ประพฤติชอบทางกาย มี ๓ อย่าง คือ
       เว้นจากฆ่าสัตว์
       เว้นจากลักทรัพย์
       เว้นจากประพฤติผิดในกาม

วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา, ประพฤติชอบทางวาจา มี ๔ อย่าง คือ
       เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ;




มโนสุจริต ความประพฤติชอบด้วยใจ, ความสุจริตทางใจ มี ๓ อย่าง คือ
       ๑. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
       ๒. อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
       ๓. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม

ขอขอบคุณ  อาจารย์ สนธิชัย ทวีโชคทรัพย์สิน  ที่ให้คำปรึกษา เรื่อง ทุจริต,สุจริต

เกี่ยวกับ รายการแสงธรรมเพื่อชีวิต 

เริ่มจัดรายการเผยแผ่ธรรมะทางวิทยุของตนเองเริ่มปี 2544 เนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับเถรวาท เขียนหนังสือธรรมะ ทำMP3 , VCDธรรมะ กิจกรรมงานบุญแก่วัดและโรงเรียนที่ยากไร้ ร่วมออกเต็นท์งานมาฆบูชาและวิสาขบูชาที่สนามหลวง ท่านสามารถฟังรายการแสงธรรมเพื่อชีวิตได้ที่ สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ AM.1422 จันทร์- ศุกร์ 10.05-10.35 น. 

ติดต่อ อาจารย์ สนธิชัย ทวีโชคทรัพย์สิน โทร 084-100-8283
Facebook   https://www.facebook.com/profile.php?id=100001409944366
 
Blogger Templates